ประเด็นคำถามที่อาจพบบ่อย (FAQ)

กลุ่มงานส่งเสริมและประสานงานท้องถิ่นอำเภอ

1 เพราะเหตุใดจึงมีการจัดตั้งกลุ่มงานส่งเสริมและประสานงานท้องถิ่นอำเภอเป็นกลุ่มงานใหม่ ในสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอ

เนื่องจากเป็นแนวทางที่ได้จากการศึกษาวิจัยของ สปร. ในแนวทางที่ 3 ซึ่งเป็นการดำเนินการภายในกรม เพื่อให้กลุ่มงานนี้เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ประสานงาน รวบรวมและวิเคราะห์ส่งข้อมูล ที่จำเป็นต้องใช้ในการจัดทำเอกสารประกอบในการจัดทำคำขอเพื่อให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอเป็นราชการส่วนภูมิภาค และจัดส่งสำนักงาน ก.พ.ร. และ สำนักงาน ก.พ. เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป โดยการจัดตั้งกลุ่มงานดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ 55/2564

2 กลุ่มงานส่งเสริมและประสานงานท้องถิ่นอำเภอนี้ ทำหน้าที่อะไร

กลุ่มงานส่งเสริมและประสานงานท้องถิ่นอำเภอ หรือ กง.ทอ. ทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวก ส่งเสริม ประสานงาน ติดตามการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของท้องถิ่นอำเภอ โดย สถ. จะพัฒนาระบบการรายงานผล การสนับสนุนการปฏิบัติงาน และระบบการประสานงานของท้องถิ่นอำเภอ โดยอยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบเพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของท้องถิ่นอำเภอ

3 การมอบหมายผู้ปฏิบัติหน้าที่ กลุ่มงานส่งเสริมและประสานงานท้องถิ่นอำเภอ ดำเนินการอย่างไร

ให้ท้องถิ่นจังหวัดพิจารณามอบหมายข้าราชการที่เคยปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ท้องถิ่นอำเภอที่อยู่ในระดับชำนาญการขึ้นไป เป็นผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและประสานงานท้องถิ่นอำเภอ

4 แนวทางการมอบหมายท้องถิ่นอำเภอเพื่อรับผิดชอบพื้นที่อำเภอ สามารถดำเนินการอย่างไร

พิจารณามอบหมายท้องถิ่นอำเภอรับผิดชอบพื้นที่อำเภอ จำนวนอำเภอละ 1 ท่าน ทั้งนี้ หากบุคลากรไม่เพียงพอ ให้มอบหมายท้องถิ่นอำเภอรับผิดชอบมากกว่า 1 อำเภอได้ โดยควรมีพื้นที่ติดต่อกันเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน โดยให้พิจารณาตามบริบทความเหมาะสม โดยพิจารณาประเด็นความอาวุโส และ ความรู้ความสามารถและการปฏิบัติงาน

5 เมื่อมีกลุ่มงานขึ้นมาใหม่โดยมีหน้าที่หลักในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของท้องถิ่นอำเภอแล้ว ทำไมยังต้องให้ท้องถิ่นอำเภอไปปฏิบัติงาน ณ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภออยู่

ภารกิจของท้องถิ่นอำเภอ ยังมีความสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน อปท. ในระดับอำเภอ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอ เพื่อให้ภารกิจของ สถ. ในระดับอำเภอคงอยู่ โดยจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาภาระงานของท้องถิ่นอำเภอ จึงไม่ควรยุบสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอ แม้ว่าเป็นโครงสร้างที่เกิดจากการแบ่งงานภายในของ สถ. ก็ตาม

ศูนย์ประสานงานท้องถิ่นอำเภอ

1 เพราะเหตุใดจึงมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานท้องถิ่นอำเภอ

ศูนย์ประสานงานท้องถิ่นอำเภอ จัดตั้งขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ (ทางเว็บไซต์ www ?) โดยเป็นไปตามมติการประชุมคณะทำงานส่งเสริมการปฏิบัติงานของท้องถิ่นอำเภอ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ เมื่อวันอังคารที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นศูนย์ประสานงานร่วมกันระหว่างท้องถิ่นอำเภอในส่วนภูมิภาคกับสำนัก/กองในส่วนกลาง รวมถึงเพื่อให้เกิดการประสานงานในระดับพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับท้องถิ่น ตลอดจนเพื่อเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ภารกิจ/งานที่สำคัญของผู้ที่รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ท้องถิ่นอำเภอ

2 การติดต่อศูนย์ประสานงานท้องถิ่นอำเภอสามารถดำเนินการได้อย่างไร

ติดต่อได้ที่กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เบอร์โทร 02 241 9013

3 ในการประสานงานกับผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและประสานท้องถิ่นอำเภอ หรือ ท้องถิ่นอำเภอ ข้ามจังหวัด สามารถดำเนินการได้อย่างไร

ในเว็บไซต์ศูนย์ประสานงานท้องถิ่นอำเภอนี้ สามารถสืบค้นข้อมูลการติดต่อบุคลากรของผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและประสานท้องถิ่นอำเภอในแต่ละจังหวัด และข้อมูลบุคลากรท้องถิ่นอำเภอข้ามจังหวัด ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นไปตาม DLA Connect

ระบบบันทึกการติดตามข้อมูลปริมาณงานท้องถิ่นอำเภอ (Workload Tracking System)

1 Workload Tracking System มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร

Workload Tracking System คือ ระบบบันทึกการติดตามข้อมูลปริมาณงานท้องถิ่นอำเภอ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจข้อมูลปริมาณประกอบการวิเคราะห์และจัดทำเอกสารข้อเสนอการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอเป็นราชการส่วนภูมิภาค โดยเป็นการสำรวจที่สามารถลดการใช้งานเอกสาร (Paperless) รวดเร็ว และให้ส่วนกลางได้ติดตามการดำเนินงานที่สำคัญของท้องถิ่นอำเภอในภูมิภาค

2 ระบบบันทึกการติดตามข้อมูลปริมาณงานท้องถิ่นอำเภอ (Workload Tracking System) ต้องบันทึกข้อมูลอะไรบ้าง

Workload Tracking System ประกอบด้วยการบันทึกข้อมูล ๒ ส่วน คือ ๑) การบันทึกข้อมูลปริมาณงานในแต่ละด้านตามขอบเขตภารกิจท้องถิ่นอำเภอ ๒) การบันทึกข้อมูลเปรียบเทียบจำนวนการรับ - ส่งหนังสือของสำนักงานอำเภอและสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอ

3 การบันทึกข้อมูลในระบบบันทึกการติดตามข้อมูลปริมาณงานท้องถิ่นอำเภอ (Workload Tracking System) มีระยะเวลาดำเนินการอย่างไร

สำหรับช่วงระยะเวลาในการบันทึกข้อมูล ท้องถิ่นอำเภอสามารถเข้าสู่ระบบเพื่อบันทึกข้อมูลในระบบดังกล่าวตามช่วงระยะเวลาที่กรมได้แจ้งไปในแต่ละปีงบประมาณ

4 การล็อคอินเข้าสู่ระบบบันทึกการติดตามข้อมูลปริมาณงานท้องถิ่นอำเภอ (Workload Tracking System) สามารถดำเนินการได้อย่างไร

1. เปิดใช้งาน Web Browser ที่ได้ติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งโปรแกรม Web Browser ที่สามารถรองรับการใช้งานระบบข้อมูลกลางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ระบบ INFO)ได้ เช่น Google Chrome, Microsoft Edge เป็นต้น
2. ในช่องแสดง URL Address ให้ระบุ https://info.dla.go.th หรือเข้าใช้งานผ่านเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น >> แบนเนอร์กลางของเว็บไซต์ >> ศูนย์ประสานงานท้องถิ่นอำเภอ
3. คลิกไปที่เมนู ?Workload Tracking System? ซึ่งอยู่ในแถบเมนูด้านบนของเว็บไซต์
4. หน้าจอจะแสดงผลเป็นการเข้าสู่ระบบของระบบ DLA-SSO เมื่อท่านต้องการเข้าสู่ระบบเพื่อบันทึกข้อมูล สถอ. ให้ใส่ User และ Password จากนั้นจึงคลิกปุ่ม ?เข้าสู่ระบบ?

หากพบปัญหา
- กรณีผู้ใช้งานไม่แน่ใจว่าตนมี User ในระบบแล้วหรือไม่ กำหนดให้ SSO Admin ของ สถจ. ตรวจสอบ User ในระบบได้
- กรณีผู้ใช้งานที่ไม่ทราบ Password กำหนดให้ SSO Admin ของ สถจ. กำหนดรหัสใหม่ของผู้ใช้งาน
- กรณีผู้ใช้งานครั้งแรก กำหนดให้ SSO Admin ของ สถจ. เพิ่มสิทธิ์การใช้งานของผู้ใช้งาน
- กรณีไม่ทราบ SSO Admin ว่าคือใคร ให้ตรวจสอบรายชื่อ SSO Admin จังหวัดของท่าน ดังนี้

1. เข้าไปที่หน้าจอลงชื่อเข้าสู่ระบบ คลิก ?ตรวจสอบรายชื่อ SSO Admin?
2. หน้าจอจะปรากฎให้ท่านเลือก สถจ. ที่ท่านสังกัดอยู่ เมื่อเลือกจังหวัดแล้ว ให้กดปุ่ม ?ค้นหา?

5 หากบันทึกข้อมูลเรียบร้อยแล้วจะทราบได้อย่างไรว่าดำเนินการบันทึกครบถ้วนหรือไม่

สามารถเข้าไปที่เมนู ?สถานะการรายงานผล? เพื่อตรวจสอบสถานะการรายงานว่าบันทึกครบถ้วนหรือไม่ หากดำเนินการบันทึกครบถ้วน สถานะจะเป็นสีเขียว

การดำเนินการการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอที่ผ่านมา

1 การดำเนินการการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา กรมได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง

สำนักงาน ก.พ.ร. กำหนดหลักเกณฑ์ให้ส่วนราชการที่มีความประสงค์จะจัดตั้งส่วนราชการประจำจังหวัดหรือ ส่วนราชการประจำอำเภอ ดำเนินการทดลองเพื่อศึกษารูปแบบการทำงาน และประเมินความคุ้มค่าในการจัดตั้งฯขึ้นในบางพื้นที่ ตามหลักเกณฑ์และแนวทางตามหนังสือสำนักงาน ก.พ.ร. ที่ นร ๑๒๐๐/ว ๒๗ ลงวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

การดำเนินงานที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จ้างสถาบันทางวิชาการ 2 สถาบันเพื่อทดลอง ศึกษาและวิจัย คือ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในปี ๒๕๖๑ และสถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.) ในปี ๒๕๖๒ ดำเนินการวิจัยการปฏิบัติงานของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยจากการศึกษาพบว่า มีความจำเป็นในการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอให้เป็นราชการส่วนภูมิภาคของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้มีการคัดเลือกจังหวัดเพื่อดำเนินการทดลองในพื้นที่ ๔ ภาค ๘ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดตราด จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดภูเก็ต และในระหว่างการศึกษา ในขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูลในพื้นที่ศึกษา ได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานภายนอก ได้แก่ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงาน ก.พ. สำนักงานงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงการคลัง ร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งจากการศึกษาสามารถสรุปสาระสำคัญ ดังนี้ ๑) การมีท้องถิ่นอำเภอเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคไม่ทำให้ภาระงานของท้องถิ่นจังหวัดลดลง กล่าวคือ ท้องถิ่นจังหวัดและท้องถิ่นอำเภอไม่มีภาระงานที่ซ้ำซ้อนกัน ๒) นายอำเภอมีความพึงพอใจต่อการทำงานของท้องถิ่นอำเภอ อาทิ การช่วยเหลือกระบวนการจัดทำและประสานงานแผนพัฒนาท้องถิ่น การให้คำแนะนำเกี่ยวกับระเบียบ กฎเกณฑ์ คำสั่งและ แนวปฏิบัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การประสานงานกับส่วนราชการอื่นในพื้นที่ และการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือในการผลักดันนโยบายรัฐบาลลงสู่ท้องถิ่น ๓) จากการเรียกท้องถิ่นอำเภอให้มาปฏิบัติหน้าที่ ณ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด พบว่า ก่อให้เกิดอุปสรรคหลายด้านต่อการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ ๔) ท้องถิ่นอำเภอสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน อาทิ การเชื่อมประสานหน่วยงานปกครองท้องที่และท้องถิ่น การลดความขัดแย้งในพื้นที่ และการส่งเสริม สนับสนุน การให้บริการสาธารณะกรณีองค์กรปคกรองส่วนท้องถิ่นไม่เข้มแข็งหรือไม่สามารถจัดบริการสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในขณะที่สถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.) ได้นำเสนอแนวทางการดำเนินการในการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอ จำนวน 3 แนวทาง ได้แก่ ๑) การจัดตั้งสำนักงานส่งเสริม การปกครองท้องถิ่นอำเภอทุกอำเภอ ๒) การจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอเป็นกลุ่มอำเภอ และ ๓) การจัดตั้งกลุ่มงานเพื่อประสานและส่งเสริมการปฏิบัติงานของท้องถิ่นอำเภอในสำนักงานส่งเสริม การปกครองท้องถิ่นจังหวัด

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดทำเอกสารและข้อมูลประกอบการจัดทำคำขอ เพื่อให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอให้เป็นราชการส่วนภูมิภาค โดยสำนักงาน ก.พ.ร. มีข้อเสนอแนะในประเด็นต่าง ๆ โดยสาระสำคัญ คือ ๑) การทบทวนบทบาทการปฏิบัติงานของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (ส่วนกลาง) และสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดและอำเภอ (ส่วนภูมิภาค) ให้สะท้อนภารกิจหลักของหน่วยงาน อาทิ การระบุให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมถึงประโยชน์ที่ประเทศชาติและประชาชนจะได้รับจากกการปรับปรุงโครงสร้างฯ โดยให้ชี้แจงว่าหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ/แก้ปัญหาอุปสรรคอย่างไร การให้ระบุ ถึงเหตุผลที่ชัดเจนถึงสาเหตุที่ต้องปรับปรุงโครงสร้างว่าก่อประโยชน์อย่างไร/เพิ่มประสิทธิภาพอย่างไร รวมถึงสาเหตุ ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ภายใต้การแบ่งส่วนราชการปัจจุบัน ๒) การวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอ อาทิ การแสดงรายละเอียดงบประมาณค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจ ที่ขอจัดตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อแสดงความคุ้มค่าหากได้ปรับปรุงโครงสร้างตามที่เสนอ และ ๓) การกำหนดแนวทาง การประเมินการปฏิบัติงานของสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอ อาทิ การกำหนดค่าเป้าหมายที่เป็นผลลัพธ์และสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพจากการปรับปรุงโครงสร้าง

ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้จัดทำขอบเขตภารกิจของท้องถิ่นอำเภอ และกำหนดให้มีการตั้งกลุ่มงานส่งเสริมและประสานงานท้องถิ่นอำเภอ (กง.ทอ.) ขึ้น เพื่อเป็นกลุ่มงานที่มีภารกิจใน การส่งเสริม ประสานงาน และสนับสนุนการปฏิบัติงานของท้องถิ่นอำเภอ ซึ่งเป็นการตั้งกลุ่มงานในสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดขึ้นใหม่เป็นการภายใน โดยเป็นไปตามแนวทางการศึกษาของ สปร. และเป็นการมอบหมายภาระงานของท้องถิ่นอำเภออย่างชัดเจนตามบทบาทของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และเพื่อให้สามารถประสานและเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบการจัดทำคำขอเพื่อให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอให้เป็นราชการส่วนภูมิภาค เสนอต่อสำนักงาน ก.พ.ร.